พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงค้นคว้าวิธีการจัดการ “ดิน” เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรตลอดจนประชาชนมานานแล้ว ทั้งเรื่องการ “แกล้งดิน” คือแกล้งดินที่มีปัญหาจนทำการเกษตรไม่ได้อยู่แล้วให้เปรี้ยวจัดเป็นกรดรุนแรงหนักขึ้นไปอีก จากนั้นจึงหาวิธีปรับปรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้สามารถกลับมาปลูกพืชเศรษฐกิจได้ หรือพระราชดำริการนำหญ้าแฝกมาปลูกเพื่อให้ดินอาศัยเกาะยึดรากหญ้าแฝกไว้ด้วยกัน กลายเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต ช่วยชะลอการไหลของน้ำและแรงลม คอยกักกั้นตะกอนดินไม่ให้หน้าดินพังทลาย แก้ปัญหาดินถล่มในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งหญ้าแฝกยังมีคุณสมบัติช่วยบำรุงดินให้สมบูรณ์แข็งแรง
แนวคิดและที่มาของวันดินโลกเกิดขึ้นในปี 2545 ขณะมีการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก (World Congress Soil Science) ที่กรุงเทพฯ กรมพัฒนาที่ดินได้จัดแสดงนิทรรศการพระราชดำริและพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้ผู้เข้าประชุมซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางดินจากทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงพระราชวิสัยทัศน์เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน
สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science-IUSS) จึงมีความคิดเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก และดำเนินการผลักดันวาระดังกล่าวในเวทีสากลอย่างต่อเนื่อง โดย
องค์การสหประชาชาติประกาศรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลกและบรรจุในปฏิทินปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา