สำนักงานวิทยทรัพยากร หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


5 มิถุนายน 2567

Happy-World-Environment-Day! แนะนำ 4 เล่มน่าอ่านว่าด้วยสิ่งแวดล้อมหลากแง่มุม

Happy World Environment Day! แนะนำ 3 เล่มน่าอ่านว่าด้วยสิ่งแวดล้อมหลากแง่มุม    Indigenous peoples, heritage and landscape in the Asia Pacific: Knowledge co-production and empowerment / Edited by Stephen Acabado and Da-wei Kuan , Getting Land Right: ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป / ผาสุก พงษ์ไพจิตร, บรรณาธิการ , บทปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ศาสตร์-ศิลป์ของการกำกับดูแลที่ดินและสันติประชาธรรม” โดย ศ. ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ “ถอดรหัสวาทกรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน บนทางแพร่งสู่เศรษฐกิจประชาธิปไตย” โดยสฤณี อาชวานันทกุล, ธรรมชาติสถาปนา : การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน / ณภัค เสรีรักษ์

 

 

Happy World Environment Day! แนะนำ 4 เล่มน่าอ่านว่าด้วยสิ่งแวดล้อมหลากแง่มุม  

 

Indigenous peoples, heritage and landscape in the Asia Pacific: Knowledge co-production and empowerment / Edited by Stephen Acabado and Da-wei Kuan  

เน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่น ชนพื้นเมือง กับภูมิทัศน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สำรวจผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากปัจจัยหลากหลาย ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การเมือง นโยบายจากภาครัฐ การพัฒนาในมิติโลกสมัยใหม่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก และชี้ว่าการสร้างองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยนักวิชาการและชนพื้นเมืองซึ่งมีปฏิสัมพันธ์และจัดการกับสิ่งแวดล้อมตามวิธีปฏิบัติที่มีรากฐานมาจากความรู้ดั้งเดิม จะสามารถช่วยอนุรักษ์และใช้สอยสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาครอบคลุมหลายประเทศในภูมิภาคนี้ อาทิ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไต้หวัน เช่นกรณีสิทธิชนพื้นเมือง Tayal ในไต้หวัน ทั้งประเด็นการครอบครองพื้นที่ การรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง และปฏิสัมพันธ์ร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาพื้นที่และรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยความเข้าใจ เล่มนี้เป็นหนังสือเข้าใหม่ซึ่งฮอตมากๆ เตือนเลยว่าถ้าช้า ต้องเข้าคิวรออ่านนานแน่นอน! https://library.car.chula.ac.th/record=b2293193 

 

Getting Land Right: ระบบกำกับดูแลที่ดินไทยต้องปฏิรูป / ผาสุก พงษ์ไพจิตร, บรรณาธิการ 

12 บทความวิชาการแบบอ่านเข้าใจง่าย จากคณะวิจัย 15 คน นำโดย ศ. ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ปรับปรุงจากงานวิจัยที่ว่าด้วยสถานภาพปัจจุบันของระบบกำกับดูแลที่ดินไทย พัฒนาการความเป็นมา ปัญหาปัจจุบัน และปัญหาในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากเงื่อนไขต่างๆ เช่น สภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ระบบทุนนิยม ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการใช้ที่ดินระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ปัญหาป่าไม้และที่ดินบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการความมั่นคงของรัฐในอดีต การให้สัมปทานเอกชนใช้ที่ดิน ส.ป.ก. การจัดการที่ดินในป่าเสื่อมโทรม และวิถีคนอยู่กับป่าภายใต้บริบทกฎหมายป่าไม้ไทย แนะนำให้อ่านคู่กับ บทปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ศาสตร์-ศิลป์ของการกำกับดูแลที่ดินและสันติประชาธรรม” โดย ศ. ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ “ถอดรหัสวาทกรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน บนทางแพร่งสู่เศรษฐกิจประชาธิปไตย” โดยสฤณี อาชวานันทกุล ถอดความและเรียบเรียงจากปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 19 เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  


https://library.car.chula.ac.th/record=b2340319 

https://library.car.chula.ac.th/record=b2342728 

 

ธรรมชาติสถาปนา : การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน / ณภัค เสรีรักษ์ 

ตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติ เพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐที่ใช้ “พื้นที่ธรรมชาติ” เป็นปฏิบัติการสำหรับสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม ชี้ประเด็นการนิยามคำว่า “ธรรมชาติ” เป็นผลจากความรู้ วาทกรรม และระบอบอำนาจที่สร้างขึ้นโดยรัฐซึ่งวางอยู่บนฐานคิดที่แยกธรรมชาติและวัฒนธรรมออกจากกัน ในขณะที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวทวงสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย และตั้งคำถามว่ามนุษย์กับธรรมชาติจะดำรงอยู่ร่วมกันแบบใด หากเปลี่ยนวิธีคิดโดยการมองธรรมชาติและมนุษย์ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ดั่งวิธีคิดของคนท้องถิ่นที่ให้คุณค่าธรรมชาติต่างจากวิธีคิดของรัฐ จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสรรพชีวิต นำไปสู่การคลี่คลายปัญหาระบบนิเวศที่กำลังเผชิญภาวะล่มสลายได้หรือไม่อย่างไร  

https://library.car.chula.ac.th/record=b2341149 

 

 

views 182