สำนักงานวิทยทรัพยากร หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


21 มีนาคม 2567

สำรวจประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ต้นยุคอาณานิคมสเปนผ่านแว่นแห่ง“มิตรภาพ” โดย อาจารย์ ดร. อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู

สำรวจประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ต้นยุคอาณานิคมสเปนผ่านแว่นแห่ง“มิตรภาพ” โดย อาจารย์ ดร. อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู
 
การบรรยายทางวิชาการหัวข้อ “เกาะเพื่อนกิน ถิ่นเพื่อนตาย: การเมืองเรื่องมิตรภาพและผัสสารมณ์ในฟิลิปปินส์ต้นยุคอาณานิคมสเปน คริสต์ศตวรรษที่ 16-18” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
.
เนื้อหาประวัติศาสตร์เข้มข้นสกัดจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาของ อ. อาทิตย์ เรื่อง “Conquest of Amity: Affective Politics and Cultures of Freindship in the Spanish Colonization of the Philippines, 1521-1762” ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์กับชาวสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 ตั้งแต่การเผชิญหน้ากันในการสำรวจทางทะเลของชาวสเปน จนกระทั่งการยึดครองฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมสเปนและการเคลื่อนไหวต่อต้านโดยชาวพื้นเมือง โดยเน้นที่ประเด็นเรื่องมิตรภาพ (friendship) และผัสสารมณ์ (affect) พร้อมทั้งพิจารณาเหตุการณ์เหล่านี้จากทั้งมุมมองระดับโลกและระดับท้องถิ่น
.
อ. อาทิตย์เริ่มต้นจากข้อสังเกตว่า เพื่อนและมิตรภาพเป็นความสัมพันธ์ที่มักจะถูกมองข้ามในการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์แบบอื่นที่เป็นทางการกว่าหรือมีสถาบันรองรับชัดเจนกว่า แต่เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคม ทั้งในภาษาพื้นเมืองและภาษายุโรป มีคำที่หมายถึงเพื่อนและมิตรภาพรวมทั้งคำบรรยายวิถีปฏิบัติในการผูกมิตรอยู่เป็นจำนวนมากในหลายลักษณะหลายบริบท จึงชวนให้ตั้งคำถามว่า “มิตรภาพ” ทั้งในฐานะแนวคิดและในฐานะปรากฏการณ์มีความสำคัญอย่างไรต่อการยึดครองฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมสเปนและการต่อต้านอาณานิคมโดยชาวพื้นเมือง  “มิตรภาพ”แบบใดบ้างที่คนสองกลุ่มนี้สร้างขึ้นระหว่างกัน และสร้างขึ้นผ่านกระบวนการอะไรบ้าง อารมณ์ความรู้สึกอะไรบ้างมีบทบาทในการก่อตัวและพลวัตของความสัมพันธ์ที่ว่านี้ และหากเราใช้ “มิตรภาพ” เป็นแว่นในการส่องสำรวจประวัติศาสตร์อาณานิคม จะเกิดความเข้าใจหรือมุมมองใหม่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างจักรวรรดิกับอาณานิคมอย่างไร
 
การบรรยายทางวิชาการหัวข้อ “เกาะเพื่อนกิน ถิ่นเพื่อนตาย: การเมืองเรื่องมิตรภาพและผัสสารมณ์ในฟิลิปปินส์ต้นยุคอาณานิคมสเปน คริสต์ศตวรรษที่ 16-18” โดย อาจารย์ ดร. อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
.
อ. อาทิตย์เสนอว่า มิตรภาพเป็นเวทีสำหรับการต่อสู้ต่อรองอำนาจระหว่างเจ้าอาณานิคมกับชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์และกลุ่มอำนาจอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเมืองเรื่องเพื่อนหรือมิตรภาพ (politics of friendship) ในฟิลิปปินส์ที่ว่านี้เกิดขึ้นในสามระดับโดยสัมพันธ์กัน คือ มิตรภาพระหว่างรัฐหรือชุมชนทางการเมือง, มิตรภาพระหว่างบุคคล, และมิตรภาพระหว่างมนุษย์กับภูตผีปีศาจหรือพระเจ้าตามคติความเชื่อในศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมและในคริสต์ศาสนาคาทอลิก โดยที่การเมืองทั้งสามระดับต่างก็มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นหนึ่งในพลังผลักดันสำคัญ เช่น ความรัก ความอาย ความ(ไม่)ไว้เนื้อเชื่อใจ ความรู้สึกร่วมทางผัสสะ (shared sensation) ฯลฯ กล่าวได้ว่าระบอบอาณานิคมสเปนในฟิลิปปินส์สถาปนาขึ้นได้ด้วยมิตรภาพสามระดับนี้ แต่ก็ถูกหลบเลี่ยง ท้าทาย หรือต่อต้านโดยชาวฟิลิปิโนในทั้งสามระดับเช่นกัน อ. อาทิตย์ยังได้ยกตัวอย่างพิธีกรีดเลือดกระทำไมตรี หรือที่รู้จักกันในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ว่า “ซานดูโกะ” (sandugo) ซึ่งไม่เพียงเป็นวัฒนธรรมร่วมที่เชื่อมโยงชาวพื้นเมืองหลายชาติพันธุ์เข้าด้วยกันเท่านั้น หากยังเป็นพิธีกรรมที่ชนพื้นเมืองใช้ผูกมิตรและรับมือกับชาวยุโรปโดยเฉพาะสเปนในช่วงต้นของการติดต่อสัมพันธ์ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง และต่างฝ่ายต่างใช้ประโยชน์และให้ความหมายแก่พิธีนี้ต่างๆ กัน
.
การบรรยายครั้งนี้พาเราสำรวจความสำคัญของมิตรภาพในจารีตภูมิปัญญาของยุโรปและฟิลิปปินส์ และการปะทะกันของวัฒนธรรมมิตรภาพทั้งในพื้นที่ของการขับเคี่ยวกันทางการเมือง-กฎหมายและในพื้นที่ของการนับถือหรือปฏิเสธศาสนา ปิดท้ายด้วยข้อสรุปที่ว่า ความสัมพันธ์ในนามของ “เพื่อน” มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสถาปนาและท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเจ้าอาณานิคมสเปนกับชนพื้นเมืองฟิลิปปินส์ การศึกษาประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคมสเปนโดยมุ่งเน้นที่ “มิตรภาพ” ทำให้เรานำความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบของหลากหลายตัวแสดงมาพิจารณาร่วมกันในกรอบเดียวกันได้ และเห็นความซับซ้อนและลักษณะคู่ขนานของแต่ละรูปแบบ ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคมสเปนผ่านมุมมองของมิตรภาพ เชิญอ่านวิทยานิพนธ์ของ อ.อาทิตย์ และเรื่องราวของฟิลิปปินส์ในแง่มุมอื่นๆ ได้ที่ TAIC ชั้น 6 หอสมุดกลาง จุฬาฯ นะคะ
 
ตรวจสอบชั้นวางได้ที่นี่:
Conquest of Amity: Affective Politics and Cultures of Freindship in the Spanish Colonization of the Philippines, 1521-1762
Location: https://library.car.chula.ac.th/record=b2342526
 
ประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ยุคอาณานิคมสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 / เปี่ยมศักดิ์ หงส์จำรัสศิลป์
Location: https://library.car.chula.ac.th/record=b2340280
 
 

views 864