"เยอแนล": ลักษณะเด่นและคุณค่าในฐานะประเภทวรรณคดี

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “เยอแนล” (Journal) รวมถึงพระนิพนธ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ งานเขียนของข้าราชการ และงานเขียนของราษฎรที่มีลักษณะสอดคล้องกับเยอแนลและเขียนขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมทั้งสิ้น 16 เรื่อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะเด่นและคุณค่าของตัวบทในฐานประเภทวรรณคดี ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเยอแนลเป็นประเภทวรรณคดีย่อย (subgenre) ของวรรณกรรมบันทึกการเดินทางของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรูปแบบเยอแนลมาจากงานประเภท journal ของตะวันตกโดยมีงานดั้งเดิมของไทยคือจดหมายเหตุและนิราศบันทึกการเดินทางเป็นพื้นฐานในการรับรูปแบบงานเขียนของต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีไทย นอกจากนี้บริบทสังคมในช่วงการขยายอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เยอแนลเกิดขึ้นด้วย เยอแนลมีลักษณะสำคัญ 4 ประการที่จำแนกเยอแนลออกจากบันทึกการเดินทางกลุ่มอื่น จะขาดลักษณะข้อใดข้อหนึ่งไปมิได้ ได้แก่ 1.เป็นร้อยแก้วบันทึกการเดินทาง 2. นำเสนอเนื้อหาตามลำดับวันที่และเวลา 3. เกิดขึ้นจากเจตจำนงของปัจเจกบุคคล 4. มีจุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในบันทึกแก่ผู้อ่านทั่วไป เยอแนลมีลักษณะเด่นด้านเนื้อหาที่การนำเสนอความเป็นปัจเจกบุคคลผ่านการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและการแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างเปิดเผย มีลักษณะเด่นด้านลีลาภาษาคือ ใช้ภาษานำเสนอภาพและความคิดด้วยวิธีการอธิบายขั้นตอนหรือวิธีการ การพรรณนารายละเอียด และการโน้มน้าวหรือจูงใจ เยอแนลมีคุณค่าสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านวรรณคดี คุณค่าด้านความรู้ คุณค่าด้านการเมืองการปกครอง และคุณค่าด้านสังคมวัฒนธรรม (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69507

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ ภาษาไทย” เดือน กรกฎาคม 2564


บทแหล่เทศน์มหาชาติในสังคมไทยร่วมสมัย: บทบาทและความสำคัญในฐานะวรรณคดีประกอบพิธีกรรม

บทแหล่เทศน์มหาชาติในสังคมไทยร่วมสมัย: บทบาทและความสำคัญในฐานะวรรณคดีประกอบพิธีกรรม

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาบทบาทและความสำคัญของบทแหล่เทศน์มหาชาติในฐานะวรรณคดีประกอบพิธีกรรมในสังคมไทยร่วมสมัย โดยศึกษาจากข้อมูลวีดิทัศน์มหาชาติในภาคกลางจำนวน 300 ชุด เป็นวีดิทัศน์การเทศน์แบบเรียงกัณฑ์ทั้ง 13 กัณฑ์ จำนวน 260 ชุด และเป็นวิดิทัศน์การเทศน์มหาชาติประยุกต์ซึ่งเล่าเรื่องสรุปความจำนวน 40 ชุด นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลภาคสนามจากการเทศน์มหาชาติในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2559-2562 ผลการศึกษาพบว่า การเทศน์มหาชาติในปัจจุบันยังคงสืบทอดคติความเชื่อเรื่องคาถาพัน และมุ่งถ่ายทอดเวสสันดรชาดกเพื่อนำเสนอแนวคิดเรื่องทานบารมี แต่องค์ประกอบสำคัญของพิธีกรรมมีความเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ระยะเวลาการจัดเทศน์ลดลง โอกาสในการจัดเทศน์มีความหลากหลายมากขึ้น และเกิดผู้ฟังกลุ่มใหม่ซึ่งมาจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้พระนักเทศน์มหาชาติต้องลดเนื้อหาที่นำมาเทศน์ โดยจะเลือกเฉพาะเนื้อหาตอนเด่นมาถ่ายทอด มีทั้งตอนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทานบารมี เช่น การบำเพ็ญทาน การแสดงความเศร้าโศก และการพรรณนาเครื่องทาน และตอนที่เป็นรายละเอียดซึ่งเน้นสร้างสีสันและเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ทำบุญ เช่น การพรรณนาธรรมชาติ การแสดงอารมณ์ขัน การให้พร ตัวบทที่ใช้มีทั้งบทแหล่ในซึ่งแต่งเป็นร่ายยาว และบทแหล่นอกซึ่งแต่งเป็นกลอนประกอบกัน โดยมีตัวบทสำคัญคือร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ลักษณะเช่นนี้สะท้อนว่าวิธีการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะและขั้นตอนในพิธีกรรมมีส่วนกำกับการถ่ายทอดบทแหล่เทศน์มหาชาติ ในการถ่ายทอดบทแหล่เทศน์ มีการประสานวรรณศิลป์กับศิลปะ 3 ประเภท ได้แก่ คีตศิลป์ ศิลปะการสื่อสารการแสดง และวาทศิลป์ การประสานศิลป์เหล่านี้ช่วยให้เล่าเรื่องได้อย่างราบรื่น เน้นเนื้อหาตอนเด่น และช่วยเสริมบรรยากาศของพิธีกรรมให้สอดคล้องกับอารมณ์ในเรื่อง เอื้อให้เทศน์ได้สอดคล้องกับระยะเวลา และเปิดโอกาสให้พระผู้เทศน์อธิบายเนื้อความของเวสสันดรชาดกให้เข้ากับประเด็นต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมร่วมสมัย การใช้บทแหล่เทศน์มหาชาติข้างต้นสะท้อนให้เห็นบทบาทและความสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ บทบาทที่มีต่อพระพุทธศาสนา คือช่วยให้เผยแผ่เวสสันดรชาดกได้อย่างกว้างขวาง สร้างศรัทธาอย่างลึกซึ้ง และถ่ายทอดคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างมีสุนทรียะ บทบาทที่มีต่อวรรณคดีไทยและขนบวรรณคดีไทย คือช่วยเผยแพร่วรรณคดีไทยเป็นบทแหล่นอก และใช้ขนบวรรณคดีไทยผ่านการสร้างสรรค์บทแหล่ใหม่ ๆ และคำบรรยายร้อยแก้ว และบทบาทที่มีต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่สังคม กล่าวได้ว่าบทแหล่เทศน์มหาชาติเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากอดีตและยังดำรงอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัยอย่างน่าสนใจ (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69505

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ ภาษาไทย” เดือน กรกฎาคม 2564


สำนวนภาษาในวรรณคดีไทยที่สัมพันธ์กับสำนวนภาษาในวรรณคดีบาลีและสันสกฤต

สำนวนภาษาในวรรณคดีไทยที่สัมพันธ์กับสำนวนภาษาในวรรณคดีบาลีและสันสกฤต

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาสำนวนภาษาในวรรณคดีไทยที่สันนิษฐานว่ามีที่มาจากวรรณคดีบาลีและสันสกฤต โดยใช้วรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นข้อมูลในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า วรรณคดีไทยมีสำนวนภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก และสำนวนภาษาสันสกฤตจำนวนหนึ่ง จำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ สำนวนไวยากรณ์ และสำนวนเนื้อหา กวีไทยรับสำนวนภาษาเหล่านี้มาใช้ 2 ลักษณะ ได้แก่ การแปลและการดัดแปลง เมื่อสำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาสู่วรรณคดีไทยแล้วได้คลี่คลายไปตามปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ขนบวรรณศิลป์และความคิดสร้างสรรค์ของกวีไทย ปริบทสังคมวัฒนธรรมไทย และสากลลักษณ์ของการรับอิทธิพลภาษาต่างประเทศและการแปล สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตนับว่ามีความสำคัญต่อวัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของภาษาทำเนียบพิเศษ เป็นต้นเค้าของขนบการแต่งวรรณคดีไทยส่วนใหญ่และจารีตวรรณคดีไทยบางประเภท รวมทั้งเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทยขึ้นใหม่โดยไม่รู้สิ้นสุด โดยนัยนี้ สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตจึงสะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทยมีลักษณะเป็นวัฒนธรรม ภารตานุวาท ซึ่งหมายความว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความเจริญงอกงามของภาษาและวรรณคดีไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่กวีไทยได้แปลและดัดแปลงสำนวนภาษาจากวรรณคดีภารตะ คือ บาลีและสันสกฤต แล้วนำมาสร้างสรรค์วรรณคดีไทยได้อย่างวิจิตรบรรจง (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69509

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ ภาษาไทย” เดือน กรกฎาคม 2564


คำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้: การศึกษาเชิงประวัติ

คำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้: การศึกษาเชิงประวัติ

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์หน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ และกลไกทางภาษาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ ผู้วิจัยแบ่งสมัยข้อมูลภาษาออกเป็น 5 ช่วงสมัย ได้แก่ ช่วงที่ 1 สมัยอยุธยา, ช่วงที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 1–รัชกาลที่ 3, ช่วงที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 4–รัชกาลที่ 5, ช่วงที่ 4 สมัยรัชกาลที่ 6–รัชกาลที่ 8 และช่วงที่ 5 สมัยรัชกาลที่ 9-รัชกาลที่10 ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากเอกสารเฉพาะที่เป็นร้อยแก้วในทุกช่วงสมัยของการศึกษา โดยในขั้นตอนที่ 1 ผู้วิจัยใช้กรอบทดสอบคำบุพบท คำเชื่อมนาม และคำเชื่อมอนุพากย์ของวิจินตน์ ภาณุพงศ์ (2538) มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจำแนกคำเชื่อมออกจากคำชนิดอื่น ขั้นตอนที่ 2 ผู้วิจัยใช้เกณฑ์ความหมาย หากมีกรณีที่กรอบทดสอบในขั้นตอนที่ 1 ไม่สามารถจำแนกคำเชื่อมออกจากหมวดคำอื่นได้ ผลจากการใช้เกณฑ์ในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 พบคำเชื่อมในข้อมูลทั้งสิ้น 119 คำ ลำดับถัดมา ในขั้นตอนที่ 3 ผู้วิจัยได้นำคำเชื่อมทั้งหมดมาจำแนกหมวดหน้าที่และหน้าที่ย่อย โดยประยุกต์ตามกรอบเกณฑ์ของนววรรณ พันธุเมธา (2554) เป็นแนวทางในการวิเคราะห์หมวดหน้าที่ของคำเชื่อม และใช้เกณฑ์ทางอรรถวากยสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์หน้าที่ย่อยของคำเชื่อมในแต่ละหมวดหน้าที่ ผลการศึกษาหน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบันพบว่า จำนวนหมวดหน้าที่ของคำเชื่อมในแต่ละสมัยมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในสมัยอยุธยาปรากฏหมวดหน้าที่จำนวน 20 หมวดหน้าที่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 3 และสมัยรัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5 ปรากฏ 19 หมวดหน้าที่ ในสมัยรัชกาลที่ 6-รัชกาลที่ 8 ปรากฏ 21 หมวดหน้าที่ และสมัยปัจจุบันปรากฏทั้งสิ้น 22 หมวดหน้าที่ เมื่อพิจารณาด้านการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้พบว่า คำเชื่อมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเพิ่มหน้าที่ การสูญหน้าที่ และการคงหน้าที่ ทั้งนี้ กระบวนการทางภาษาที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ คือ การกลายเป็นคำไวยากรณ์ โดยกลไกสำคัญ ได้แก่ อุปลักษณ์ นามนัย และการวิเคราะห์ใหม่ (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69508

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ ภาษาไทย” เดือน กรกฎาคม 2564


ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษในวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษในสื่อสาธารณะ

ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษในวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษในสื่อสาธารณะ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับภาพตัวแทนของบุคคลพ้นโทษในวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษในสื่อสาธารณะ ด้วยแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ตามแนวภาษาศาสตร์ เก็บข้อมูลวาทกรรมที่มีเนื้อหากล่าวถึงบุคคลพ้นโทษในเชิงสนับสนุนจากสื่อที่เผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้าง ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน 6 ชื่อฉบับ เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง วารสารราชทัณฑ์ และวีดิทัศน์รายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง โดยศึกษาข้อมูลที่เผยแพร่ในระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2560 ปี พ.ศ. 2553 เป็นปีที่กระทรวงยุติธรรมเริ่มนำแนวคิด “คืนคนดีสู่สังคม” มาใช้ในงานราชทัณฑ์ ผลการวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาในการนำเสนอภาพตัวแทน พบกลวิธีทางภาษาได้แก่ การเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำ การใช้ประโยคที่สัมพันธ์กันแบบเหตุ – ผล การใช้ประโยคที่สัมพันธ์กันแบบขัดแย้ง การใช้ประโยคที่สัมพันธ์กันแบบเงื่อนไข การใช้อุปลักษณ์ การใช้สำนวน การใช้มูลบท การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ การใช้สหบท การใช้เสียงของบุคคลพ้นโทษ และ การให้รายละเอียด ภาพตัวแทนที่ประกอบสร้างจากกลวิธีทางภาษาเหล่านี้มีทั้งภาพตัวแทนด้านบวก ได้แก่ บุคคลพ้นโทษบางส่วนเป็นคนดีและไม่ได้กระทำผิดโดยสันดาน บุคคลพ้นโทษเป็นผู้ผ่านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูอย่างดี บุคคลพ้นโทษเป็นผู้ที่ กลับตัวกลับใจเป็นคนดีแล้ว และบุคคลพ้นโทษบางส่วนเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ภาพตัวแทนด้านลบ ได้แก่ บุคคลพ้นโทษเป็นผู้มีประวัติการกระทำความผิดติดตัว บุคคลพ้นโทษคือคนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำ และบุคคลพ้นโทษเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวและมักสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม และภาพตัวแทนที่มีหลายแง่มุม คือ บุคคลพ้นโทษเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สังคมไม่ยอมรับและประสบปัญหาการดำเนินชีวิต เมื่อพิจารณาปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม พบว่า งานราชทัณฑ์ไทย นโยบาย "คืนคนดีสู่สังคม" ปัญหาในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขัง และวาทกรรมข่าวเกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดการเรือนจำ ข้อจำกัดในด้านการประกอบอาชีพ อคติเดิมในสังคม วาทกรรมอื่นที่แข่งขันกับวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษ แนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา และแนวคิดเรื่อง ความเมตตากรุณา น่าจะมีอิทธิพลในการประกอบสร้างภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษ ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารกับสังคมเพื่อสนับสนุนบุคคลพ้นโทษยังพบรูปภาษาหลายลักษณะที่ประกอบสร้างภาพตัวแทนด้านลบไปพร้อมกันด้วย โดยที่ผู้ผลิตวาทกรรมอาจไม่รู้ตัวซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตอกย้ำอคติเดิมในสังคม และอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย “คืนคนดีสู่สังคม” ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของรูปภาษาเหล่านี้อาจนำไปสู่ การปรับปรุงวิธีการเลือกใช้ภาษาในการนำเสนอประเด็นการสนับสนุนบุคคลพ้นโทษ การสื่อสารอย่างรอบคอบและระมัดระวังน่าจะช่วยลดอคติที่มีต่อบุคคลพ้นโทษและสร้างการยอมรับบุคคลพ้นโทษได้มากขึ้น (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69512

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ ภาษาไทย” เดือน กรกฎาคม 2564


วัจนกรรมการขู่ในภาษาไทยกับปัจจัยเพศ: กรณีศึกษาคู่สนทนาที่มีสถานภาพเท่ากัน

วัจนกรรมการขู่ในภาษาไทยกับปัจจัยเพศ: กรณีศึกษาคู่สนทนาที่มีสถานภาพเท่ากัน

วัจนกรรมการขู่เป็นวัจนกรรมที่ช่วยให้ผู้พูดบรรลุความต้องการของตน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคู่สนทนา จึงเป็นอีกวัจนกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษากลวิธีทางภาษาในการแสดงวัจนกรรมการขู่ กรณีศึกษาคู่สนทนาที่มีสถานภาพเท่ากัน และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษาในการแสดงวัจนกรรมการขู่กับปัจจัยเพศของผู้พูด ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยได้มาจากคำตอบในแบบสอบถามชนิดเติมเต็มบทสนทนา จำนวน 200 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น 230 คน แนวคิดที่ใช้วิเคราะห์ ได้แก่ แนวคิดวัจนกรรม และความสุภาพ ผลการวิจัยพบว่า เมื่อผู้พูดภาษาไทยตัดสินใจแสดงวัจนกรรมการขู่แล้ว ผู้พูดนิยมใช้กลวิธีที่ทำให้การขู่สัมฤทธิ์ผลมากกว่าการรักษาความสัมพันธ์ ดังจะเห็นได้จากความถี่ของการเลือกใช้กลวิธีทางภาษาทั้ง 3 กลุ่มกลวิธี ได้แก่ 1) กลุ่มกลวิธีการทำให้คู่สนทนากลัวและ/หรือให้ทำตามสิ่งที่ผู้พูดต้องการ (ร้อยละ 73.27) 2) กลุ่มกลวิธีการแสดงความไม่พอใจ (ร้อยละ 18.80) และ 3) กลุ่มกลวิธีการพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับคู่สนทนา (ร้อยละ 7.93) นอกจากนี้ผู้พูดภาษาไทยส่วนใหญ่เลือกใช้กลวิธีการทำให้คู่สนทนากลัวและ/หรือให้ทำตามสิ่งที่ผู้พูดต้องการเพียงกลุ่มกลวิธีเดียว อย่างไรก็ตามพบว่า ในบางสถานการณ์ที่แสดงวัจนกรรมการขู่ ผู้พูดยังคงคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้พูดกับคู่สนทนา ส่งผลให้พบการเลือกใช้กลวิธีทางภาษาที่มีลักษณะเป็นการขู่และปลอบในคราวเดียวกันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้วัจนกรรมการขู่ของผู้พูดภาษาไทยยังสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม 2 ประการ คือ แนวคิดเรื่องหน้า และความเกรงใจ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษากับปัจจัยเพศของผู้พูด โดยใช้การทดสอบทางสถิติ t – test for correlate sample ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 ด้านการเลือกแสดงและไม่แสดงวัจนกรรมการขู่พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้พูดเพศชายและเพศหญิงส่วนใหญ่เลือกไม่แสดงวัจนกรรมการขู่มากกว่าการแสดงวัจนกรรม ส่วนด้านกลวิธีทางภาษาที่ใช้แสดงวัจนกรรมการขู่พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้พูดเพศชายและเพศหญิงเลือกใช้กลวิธีทางภาษาทั้ง 3 กลุ่มกลวิธีโดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน (บทคัดย่อ)

วิทยานิพนธ์ฉบับออนไลน์ http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69517

หนังสือแนะนำ “วิทยานิพนธ์ ภาษาไทย” เดือน กรกฎาคม 2564


Collection